หลักสูตรปริญญาโท
รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปรัชญาหลักสูตร
รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต
หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตอิงหลักปรัชญา 3 ประการ คือ ปรัชญาปฏิฐานนิยมเชิงตรรกะ (Logical positivism) ปรัชญาปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) และปรัชญาอัตภาวนิยม (Existentialism) กล่าวคือ ปรัชญาปฏิฐานนิยมเชิงตรรกะ การบริหารงานในปัจจุบันนับได้ว่าเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลง เพราะเหตุว่าได้มีการนำเอาวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการบริหารงานอย่างมากมายจนเป็นเหตุให้งานบางส่วนต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ตลอดจนโครงสร้างขององค์กรโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารที่ต้องเรียนรู้เทคนิคการบริหารใหม่ๆ เพิ่มเติม ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งของฝ่ายบริหารระดับกลางก็จะเปลี่ยนแปลง ขึ้นไปทำหน้าที่ทางด้านการวิจัยและพัฒนาสำหรับผู้บริหารระดับสูงจะต้องมีความรู้ความสามารถมากกว่าผู้บริหารในปัจจุบันเพราะผู้บริหารในอนาคตจะไม่เพียงแต่มองงานในองค์กรเท่านั้น หากแต่จะต้องมองกว้างจนถึงระดับประเทศและระดับโลก ดังนั้นนักบริหาร จึงต้องมีความรู้กว้างขวางทั้งความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และสถิติ เพราะวิชาเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในการบริหารมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ นักบริหารที่ดีจะต้องเตรียมตัวเพื่อรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นก่อนที่ความรู้ความสามารถของตนจะหมดความจำเป็นในอนาคต ปรัชญาปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) และปรัชญาอัตภาวนิยม (Existentialism) อันนำไปสู่หลักสูตรของการเป็นนักบริหารหัวก้าวหน้า (Proactive administrator) ซึ่งประกอบด้วย การตอบสนองต่อผลประโยชน์ของส่วนรวมและความต้องการของประชาชน ความเป็นธรรมในการให้บริการสาธารณะความรับผิดชอบทางการบริหาร และความพร้อมที่จะรับการตรวจสอบจากสาธารณชน และการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ซึ่งไม่เพียงแต่นักบริหารที่จะต้องมีการปรับตัว ผู้ปฏิบัติงานต้องมีการเรียนรู้ เพิ่มพูนทักษะในการปฏิบัติงานเพื่อที่จะสามารถดำเนินงานตามนโยบายของผู้บริหาร สามารถหาความรู้ใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงาน เพื่อให้งานเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ควบคู่กับจริยธรรมในการทำงาน
ผลสืบเนื่องจากปรัชญาของหลักสูตรข้างต้น นำไปสู่เอกลักษณ์ของหลักสูตรให้มีทั้งความเป็นวิทยาศาสตร์ (Scientific) ในแง่มุมของการแสวงหาความเป็นจริงที่ตระหนักถึง ข้อจำกัดของการนำไปใช้รวมทั้งผลกระทบทางจริยธรรมของการปรับใช้ความรู้เชิงศาสตร์ และเป็นวิชาชีพ (Professional) หมายถึง การมีทักษะในการนำเอาความรู้ไปใช้ ในทางปฏิบัติซึ่งเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
เพื่อผลิตบัณฑิตที่มี
ความพร้อมที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่มีทักษะและความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ การบริหารจัดการ
ความเป็นผู้มีความใฝ่รู้ และมีความพร้อมในการศึกษาค้นคว้า วิจัย และเรียนรู้ตลอดชีวิต
คุณธรรม จริยธรรม มีจิตสำนึกสาธารณะ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม
สามารถใช้ระเบียบวิจัย ประกอบกับแนวคิดทางวิชาการ เพื่อทำความเข้าใจและหาแนวทางแก้ไข
สามารถมองปรากฏการณ์ภาพรวมและสามารถวิเคราะห์หรือจำแนกเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยเหตุผลเชิงศาสตร์
รับรู้และเอาใจใส่ต่อความรู้สึกนึกคิดและความต้องการของบุคคลและกลุ่มคน
สามารถกำหนดกุศโลบายและกลวิธีที่สร้างสรรค์ เป็นธรรม และสอดคล้องกับผลประโยชน์สาธารณะ
หลักสูตร รป.ม. แบ่งออกเป็น
แผน ก แบบ ก 2 : นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ และเรียนวันจันทร์-วันศุกร์
แผน ข : นักศึกษาทุกคนต้องทำการศึกษาค้นคว้าแบบอิสระ และจะมีการจัดการเรียนการสอนในวันเสาร์-อาทิตย์